ประวัติความเป็นมา

 ความคิดริเริ่ม
 
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2515
กลุ่มศัลยแพทย์จำนวน 20 ท่านในคณะอนุกรรมการสอบความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ได้ประชุมหารือและเห็นพ้องต้องกันให้ก่อตั้งวิทยาลัย ศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นองค์กรรวมของศัลยแพทย์ในประเทศไทยที่มีบทบาททางวิชาชีพ และวิชาการอย่างแท้จริงในสังกัดแพทยสภา มีศัลยแพทย์ 42 ท่าน ที่เป็นอนุกรรมการสอบในชุดนั้นเป็นกรรมการริเริ่ม
 
29 พฤศจิกายน พ.ศ.2515
คณะกรรมการริเริ่มจำนวน 25 ท่านที่ร่วมประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ก่อตั้งเป็นรูปวิทยาลัยศัลยแพทย์ สังกัดแพทยสภา เพื่อมีฐานะเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีบทบาทที่สมบูรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อส่งเสริมวิชาการด้านศัลยศาสตร์และปฏิบัติการทาง ศัลยกรรมให้อยู่ใน มาตรฐานระดับนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อดำเนินการส่งเสริมให้มีผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพเวชกรรม สาขาต่าง ๆ ทางศัลยศาสตร์ เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และประชาชนคนไทยต่อไป คณะกรรมการดังกล่าวได้นำตราสารเสนอต่อแพทยสภาเพื่อพิจารณา
 
17 มกราคม พ.ศ.2517
ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกก่อตั้งจำนวน 121 ท่าน จากจำนวนที่ได้รับเสนอชื่อ 212 ท่าน
 
15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2517
มีการประชุมสมาชิกก่อตั้งเป็นครั้งแรกที่ห้องประชุมแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ที่ประชุมได้เลือกกรรมการบริหารชั่วคราว คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ นายแพทย์จรัส สุวรรณ-เวลา นายแพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ นายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี เป็นกรรมการ และให้ไปเลือกกรรมการเพิ่มอีก 5 คน ต่อมาแพทยสภาได้เสนอให้รวบรวมผู้ได้รับวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติสาขา ศัลยศาสตร์ของแพทยสภาบัณฑิตสมาชิกจากสถาบันศัลยศาสตร์ อันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เช่น FRCS, FRACS, FACS, FICS, Facharzt fur Chirugie เข้าเป็นสมาชิกสามัญของราชวิทยาลัยฯ ซึ่งที่ประชุมสมาชิกก่อตั้งวิทยาลัยฯ เห็นพ้องด้วย
 
 เป็นวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
 
12 พฤษภาคม พ.ศ.2518
นายกแพทยสภาได้ลงนามประกาศข้อบังคับของแพทยสภา ว่าด้วยวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2518 ภายหลังแพทยสภาใช้เวลาพิจารณาอยู่เป็นเวลา 2 ปีเศษ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 99 วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2518 หน้า 1-9 ฉบับพิเศษ และได้แต่งตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยฯ ชั่วคราวมีศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะฤษณะ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการอีก 15 ท่าน เพื่อดำเนินการเลือกตั้งคณะผู้บริหารวิทยาลัยศัลยแพทย์ ต่อไป วิทยาลัยศัลยแพทย์ มีสมาชิกสามัญในระยะเริ่มต้น (ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2518) รวม 299 คน
 
 ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
 
(7 เมษายน พ.ศ. 2523)
เนื่องจากประเทศไทยมีพระมาหากษัตริย์เป็นประมุข คณะกรรมการริเริ่มจึงได้คิดวางแผนกันตั้งแต่ระยะแรกว่าจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้วิทยาลัยฯ นี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และให้ได้รับพระราชทานนาม "ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย" โดยมีมวลสมาชิกจะต้องสำนึกในหน้าที่ของตนและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อ สังคม มีผลงานที่ดีจนเป็นที่ยอมรับแล้วจึงค่อยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป นอกจากนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการยกมาตรฐาน ด้านวิชาการศัลยศาสตร์และการบริการทางศัลยกรรมแล้ว โครงการศัลยแพทย์อาสาเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลจากนครหลวงได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 (ประกาศ เรื่องโครงการศัลยแพทย์อาสายามฉุกเฉินของวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2520) และได้เริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการขุดแรกตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 มีศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เป็นประธาน นาย แพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ เป็นเลขานุการ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลในภาคต่าง ๆ ของประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะมีการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังภาคต่าง ๆ ของประเทศ โครงการดังกล่าวได้ปฏิบัติภารกิจอย่างสม่ำเสมอมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน ถึง 20 ปี เป็นเวลา 5 ปี ภายหลังการก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า "ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย" ตามหนังสือแจ้งจากสำนักงานราชเลขาธิการ ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2523 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอน ที่ 83 ฉบับพิเศษ หน้า 8-14 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2525 คณะผู้บริหารชุดต่อมา (ชุดที่ 5 พ.ศ. 2526-2528) จึงได้ใช้ชื่อว่า ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
  • นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ประธาน
  • นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี รองประธาน
  • นายแพทย์ธีระ ลิ่มศิลา เลขาธิการ
  • นายแพทย์จอมจักร จันทรสกุล รองเลขาธิการ
  • นายแพทย์ปริญญา สากิยลักษณ์ เหรัญญิก
  • นายแพทย์กัมพล ประจวบเหมาะ กรรมการกลาง
  • นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา กรรมการกลาง
  • นายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี กรรมการกลาง
  • นายแพทย์กิจจา สินธวานนท์ ผู้แทนกลุ่มศัลยแพทย์ทั่วไป
  • นายแพทย์ศรีวงศ์ หะวานนท์ ผู้แทนกลุ่มกุมารศัลยแพทย์
  • นายแพทย์ประทีป โภคะกุล ผู้แทนกลุ่มศัลยแพทย์ตกแต่ง
  • นายแพทย์ชิน บูรณธรรม ผู้แทนกลุ่มศัลยแพทย์ทรวงอก
  • นายแพทย์วุฒิกิจ ธนะภูมิ ผู้แทนกลุ่มประสาทศัลยแพทย์
  • นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้แทนกลุ่มศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
 กิจกรรม
 
 
มีหลักฐานเพื่อรักษามาตรฐานของศัลยแพทย์ไทยทั้งด้านความรู้ ความสามารถ จรรยาบรรณ เผยแพร่ความรู้ และบริการให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน กิจกรรมที่ทำเป็นประจำและดำเนินไปแล้ว
  1. ดำเนินการสอบ เพื่อวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติ สาขาศัลยศาสตร์ ของแพทยสภา
  2. วางหลักสูตร การฝึกอบรมศัลยศาสตร์สาขาต่าง ๆ
  3. เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ให้แก่สมาชิก รวมทั้งแพทย์ผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก โดย

3.1 จัดประชุมใหญ่ทางวิชาการประจำปีทุกปี เริ่มครั่งที่ 1 เมื่อวัน 16 กรกฎาคม พ.ศ 2519 ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 18-21 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรม รอยัลคลิฟ พัทยาส่วนการจัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการระหว่างครึ่งปีในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

3.2 จัดการอบรมทางวิชาการระยะสั้น สนับสนุนให้กลุ่มศัลยแพทย์สาขาต่าง ๆ ทุกสาขาวิชาหมุนเวียนกันจัดการอบรมทางวิชาการระยะสั้นตามความเหมาะสมและตาม ความต้องการของสถาบันทางการแพทย์อื่น ๆ เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 จำนวน 1 ครั้ง ปี พ.ศ.2520 และ ปี พ.ศ. 2521 เพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้ง ปี พ.ศ. 2522 จำนวน 5 ครั้ง เพิ่มจำนวนการอบรมขึ้นทุกปี และปี พ.ศ.2526 (เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2526 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2527) รวม 7 ครั้ง

3.3 พิมพ์หนังสือการประชุมประจำปี เป็นประจำ ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2519 จนถึงครั้งที่ 22 ในปี พ.ศ.2540 เพื่อรวบรวมบทคัดย่อของ รายงานทางวิชาการที่นำเสนอในการประชุมและรายงานกิจการของราชวิทยาลัยฯ

3.4 วารสารของราชวิทยาลัยฯ ได้เริ่มจัดพิมพ์ Thai Journal of Surgery เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ปีละ 4 ฉบับ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ.1980) โดยมีนายแพทย์ทองดี ชัยพานิช เป็นบรรณาธิการ และมาเปลี่ยนเป็น นายแพทย์สุทธิพร จิตตมิตรภาพ ในปี 2539-2540 และกลับมาเป็น นายแพทย์ทองดี ชัยพานิช อีกครั้งในปี 2540

3.5 ศัลยศาสตร์วิวัฒน์ เนื่องจากวิชาศัลยศาสตร์มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ราชวิทยาลัยฯ จึงได้สนับสนุนให้มีการตีพิมพ์ตำราศัลยศาสตร์ ในสาขาต่าง ๆ เน้นความก้าวหน้าทางวิชาการที่อ่านเข้าใจง่าย โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ได้พยายามพิมพ์เป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ฉบับ ถึงปี พ.ศ 2540 เป็นฉบับที่ 15

3.6 แนวทางปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยศัลยกรรม ได้จัดพิมพ์แนวทางปฏิบัติในการรักษา ผู้ป่วยด้านศัลยกรรมทรวงอกและเผยแพร่ไปยังสถาบัน การแพทย์ต่างๆ แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2326

  1. งานเพื่อประชาชน
    โครงการศัลยแพทย์อาสาฯเนื่องจากในส่วนภูมิภาคอันห่างไกลของประเทศมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วยทาง ศัลยกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ และขาดแคลนศัลยแพทย์ และอุปกรณ์ราชวิทยาลัยฯ จึงได้จัดตั้งโครงการศัลยแพทย์อาสาฯ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชน และโรงพยาบาลท้องถิ่น ทั้งด้านบริการและด้านวิชาการ ได้จัดกลุ่มศัลยแพทย์ไปปฏิบัติการและศึกษาข้อมูลเพื่อการปฏิบัติในครั้งต่อ ๆ ไปที่จังหวัดตราดเมื่อวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ในระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปจังหวัดสกลนครและนราธิวาส ต่อมาที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้จัดทีมศัลยแพทย์อาสาฯ อันประกอบด้วยศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลไปช่วยปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นเหล่านั้นด้วยเสมอมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 จนถึงปัจจุบัน